ด้วยความที่สภาพภูมิศาสตร์ หรือพื้นที่ในเมืองไทย ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นพื้นที่ราบลุ่ม และเมื่อในช่วงหน้าฝน หรือฝนตกมักจะเป็นฝนที่มากับลมพายุ ซึ่งทำให้ฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมตามมาด้วย เพราะฉะนั้นแล้วเชื่อได้เลยว่า การสร้างบ้านในปัจจุบันมักจะเตรียมการรองรับกับปัญหานี้ ด้วยการวางแผนโครงสร้างบ้านแบบใหม่ ซึ่งถือได้ว่า เป็นปัญหาหลัก หรือบ้านที่ปลูกสร้างมานานแล้ว ก็ต้องมีการเตรียมการรองรับน้ำเช่นกัน มิฉะนั้นบ้านจะเสียหายมิใช่น้อย ซึ่งการป้องกันหรือรองรับน้ำมีหลากหลายวิธีที่เราสามารถทำได้  โดยการใช้เทคนิคต่างๆเพื่อป้องกันบ้านเรือน และโครงสร้างอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานต่างๆจากน้ำท่วม หรือเพื่อลดความเสียหายจากน้ำท่วม  ความรุนแรงของน้ำท่วมขึ้นอยู่กับจำนวนของตัวแปรต่างๆ  ทั้งความลึกของน้ำระยะเวลาของการท่วม  อัตราการสูงขึ้นของระดับน้ำในแม่น้ำ ความถี่ของการเกิดน้ำท่วม ความเร็วในการไหลของน้ำ  และระยะเวลาการตกของฝน  การป้องกันน้ำท่วมที่ได้ผลจะช่วยลดการซ่อมแซมของบ้านหลังน้ำท่วม

 

การป้องกันน้ำท่วมสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน

ความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐานจากน้ำท่วมอาจมีสาเหตุจากแรงดันน้ำโดยตรงจากการกัดเซาะ หรือจากทั้งสองสาเหตุรวมกัน ความกว้างของช่องเปิดที่ไม่เพียงพอของแม่น้ำใต้สะพานจะทำให้ระดับน้ำเหนือน้ำสูงขึ้น ท้องน้ำที่จุดเหนือน้ำและท้ายน้ำของสะพานจึงควรเสริมเครื่องป้องกันการกัดเซาะด้วยส่วนมากการป้องกันการกัดเซาะของท้องน้ำจะเสริมท้องน้ำด้วยอิฐ หิน หรือปลูกพืชคลุมดิน

ความเสียหายของระบบประปาคือ การที่น้ำเข้าไปในท่อ ทำให้น้ำมีตะกอนและสารพิษปนเปื้อน ปัญหานี้แก้ไขได้โดยการวางแนวท่อให้สูงกว่าระดับน้ำท่วม สำหรับระบบไฟฟ้า ระบบท่อต่างๆ และสายโทรศัพท์ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยหลักการเดียวกัน

 

สิ่งที่ควรรู้ในการป้องกันน้ำไหลเข้าบ้าน

  • น้ำสามารถซึมผ่านรอยร้าวและรอยต่อของกำแพงได้
  • น้ำสามารถผ่านเข้ารอบๆประตู  และช่องว่างของอิฐได้
  • หากน้ำท่วมสูงมาก  น้ำจะสามารถไหลย้อนกลับเข้าบ้านทางท่อในห้องน้ำและท่ออ่างล้างหน้าได้
  • น้ำสามารถไหลย้อนเข้าทางท่อระบายน้ำทิ้งได้
  • น้ำสามารถผ่านเข้าทางรอยร้าวและรอยต่อรอบสายไฟ  หรือสายโทรศัพท์ที่เจาะผ่านกำแพง

การรับมือสำหรับน้ำท่วมสิ่งที่ควรปฏิบัติ            

  • เรียนรู้เส้นทางการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุดจากบ้านไปยังที่สูงหรือพื้นที่ปลอดภัย
  • นำรถยนต์และพาหนะไปเก็บไว้ในพื้นที่ซึ่งน้ำไม่ท่วมถึง
  • บันทึกหมายเลขโทรศัพท์สำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน และเก็บไว้ตามที่จำง่าย
  • คาดคะเนความเสียหายที่จะเกิดกับทรัพย์สินของคุณเมื่อเกิดน้ำท่วม
  • เตรียมเครื่องรับวิทยุแบบพกพา อุปกรณ์ทำอาหารฉุกเฉิน แหล่งอาหารและไฟฉาย รวมทั้งแบตเตอรี่สำรอง
  • ทำความคุ้นเคยกับระบบการเตือนภัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขั้นตอนการอพยพ
  • ปรึกษาและทำข้อตกลงกับบริษัทประกันภัยเกี่ยวกับการประกันความเสียหาย
  • รวบรวมของใช้จำเป็นและเสบียงอาหารที่ต้องการใช้ภายหลังน้ำท่วมไว้ในที่ปลอดภัยและสูงกว่าระดับที่คาดว่าน้ำจะท่วมถึง
  • ผู้คนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงต่อภัยน้ำท่วม ควรจะเตรียมวัสดุ เช่น กระสอบทราย แผ่นพลาสติก ไม้แผ่น ตะปู กาวซิลิโคน เป็นต้น เพื่อใช้ป้องกันบ้านเรือน และทราบแหล่งทรายที่จะนำมาใช้
  • ทำบันทึกรายการทรัพย์สินมีค่าทั้งหมด ถ่ายรูปหรือวีดีโอเก็บไว้เป็นหลักฐาน       11.  เก็บบันทึกรายการทรัพย์สิน เอกสารสำคัญและของมีค่าอื่นๆ ในสถานที่ปลอดภัยห่างจากบ้านหรือห่างจากที่น้ำท่วมถึง เช่น ตู้เซฟที่ธนาคาร หรือไปรษณีย์
  • ทำแผนการรับมือน้ำท่วม และถ่ายเอกสารเก็บไว้ในที่สังเกตได้ง่าย  และติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วมที่เหมาะสมกับบ้านของคุณ